a trick of the light : a place for cinephiles

Posts tagged “film festival

Vientienale Postcard Diary – Day 4

บัณฑิต เทียนรัตน์

โปสการ์ด 4

โปสการ์ดลำดับสี่
เวียงจันทน์ 13 พ.ค. 54

เข้าวันที่สองแล้วสิ เราตื่นเช้ามาก็ไปอาบน้ำที่ห้องน้ำรวม(อย่าลืมนะ อาบทีละคน) เสร็จสรรพก็แต่งตัว หวีผม สะพายกระเป๋า(จะเล่าทำไม?) ออกมาร้านเน็ต รีบเขียนอัพเดทอะไรไปตามประสาคนความจำสั้น สามสี่วันมานี้มีโทรศัพท์มาจากเมืองไทย สองสาย เป็นผกก.ภาพยนตร์สุดฮ็อททั้งคู่เลย(อันนี้อยากอวด) จนตอนนี้โทรศัพท์เครดิตหมดไปเรียบร้อยแล้วเป็นการตอบคำถามว่า เค้าชาร์จที่ปลายทางหรือต้นทาง?

กลางวันแดดแรง แต่ไม่ร้อน ผิดกับสองวันก่อนที่แดดเกรียมจนเหงื่อไหลไคลย้อย วันนี้เลยเดินได้สบายๆ ตั้งใจว่าถ้าไม่เจอร้านส้มตำปลาร้าก็จะไม่กินอะไรทั้งนั้น เดินจากเฮือนพักนิดเดียวก็เจอเลย มั่นใจมาก เพราะเห็นครกลูกเบ้อเริ่ม เดินเข้าไปมีทั้งตับย่าง ไก่ย่าง โถปลาร้าสีเข้มปึ้ด กลิ่นหอมชวนรับประทาน มองไปมีฝูงแมลงวันบินว่อนอย่างร่าเริง ก็เลยสั่งตำปลาแดกมาหนึ่งจาน แม่ค้าก็ตำฉัวะๆๆมาให้อย่างรวดเร็ว สีแดงเข้มไปทั้งจาน เราสั่งข้าวเหนียว และหยิบของย่างมาเสริมอีกจาน แค่นี้ก็อิ่มแปร้

งานเวียงจันทน์นาล(Vientianale)วันที่สองนี้ เริ่มตอนบ่ายครึ่ง จัดขึ้นที่หอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว และจะทยอยฉายหนังจากลาว พม่า เวียดนาม เป็นหนังสั้นเสียส่วนใหญ่ และมีโปรแกรมหนังนานาชาติด้วย(ซึ่งเราไม่ได้สนเท่าไหร่ เพราะมันฉายเวลาเดียวกันกับหนังอาเซียน) ก่อนจะเปิดค่ำคืนนี้ด้วยหนังไทยปาล์มทองคำเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ด้วยนะ ดูจะเป็นโปรแกรมทองของงานนี้เลยเชียว คนลาวคงไม่ต้องอ่านซับฯเลย และเนื่องจากเป็นองค์กรเยอรมันเป็นผู้จัด จึงมีหนังอย่าง Run, Lola, Run หนังเก่าเก็บของทอม ทึกเวอร์ ผกก.เยอรมันมาฉายแถมด้วย(มาไงวะเนี่ย) ฉายก่อนลุงบุญมี และจะปิดท้ายคืนนี้จริงๆด้วยหนังผีไทย “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” อืมมม์ คนคัดหนังเค้าหลากอารมณ์ดีนะ

ผมคงดูไม่หมดหรอก เอาเป็นว่า บ่ายนี้ก็เลยเข้าไปดูเรื่องแรกเป็นแอนิเมชั่นฝรั่งเศสเรื่อง Princes & Princesses ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นหนังเด็ก ก็เลยหมดความสนใจ นั่งหลับไปตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งๆที่มีเสียงเด็กเจี๊ยวจ๊าวมากในโรง คือดีเหมือนกันนะครับ เค้าก็ไปหาเด็กๆลาวจากโรงเรียนมาดูกัน

ต่อมา ก็เป็นหนังลาว(กำกับโดยฝรั่ง)เรื่อง Intersection (Lao PDR, 52 mins) เป็นหนังที่แสดงด้านมืดของเยาวชนลาวยุคใหม่ โดยพูดถึงเด็กวัยรุ่นสองคนที่หลงเข้าไปยุ่งกับยาบ้า จนต้องพบกับบทเรียนราคาแพง หนังทั้งสั่งทั้งสอนในตอนจบ แบบที่ถ้ามาฉายเมืองไทยคงได้เรต ส. แต่อย่างว่าล่ะฮะว่า เมื่อมันถูกสร้างในลาว มันก็ให้อารมณ์อีกแบบหนึ่ง ยิ่งถ้าจงใจสื่อสารถึงคนลาวและเยาวชนลาวได้มาชมกัน มันก็คงได้ผลในระดับที่เขาต้องการก็ได้ อันนี้ก็ไม่อยากทะเล้นไปรู้ดีอะไรมาก เพราะผมก็เพิ่งเข้าลาวมาได้สองสามวันเองอ่ะนะ คงต้องหาข้อมูลจากคนในพื้นที่ได้บ้าง แล้วจะนำมาบอกกัน

แต่หนังก็ถ่ายทำได้ดิบๆดีนะครับ มีเพลงฮิบฮ็อปลาวผสมปนเป เด็กวัยรุ่นชายสองคนที่มาเล่นก็เหมือนได้เห็นอยู่เมื่อวานซืนที่ลานริมน้ำโขง เป็นเด็กที่เกิดมาในยุคโลภาภิวัฒน์ ยุคที่ประเทศลาวต้องการการเติบโต ต้องการเพิ่มมูลค่าของจีดีพี อ้ารับการลงทุนจากต่างประเทศที่จ้องกันตาเป็นมันอยู่รายรอบด้าน แต่ขณะเดียวกันก็เห็นตัวอย่างแย่ๆของเพื่อนบ้านที่เปิดบ้านอ้าซ่าจนทรัพยากรธรรมชาติแทบไม่เหลือหลอ เศรษฐกิจโตพุ่งพรวด แต่ปัญหาของการโตเร็วเกินไป มันก็ไปสร้างปัญหาอื่นๆตามมาเป็นพรวน จะพูดไปทำไมมี เราก็มองเห็นๆอยู่

เราไม่โทษทุนนิยมเป็นตัวร้ายก็จริง และเราไม่คลั่งที่จะแช่แข็งชนบทให้เอาแต่พอเพียงแต่ไม่พอกิน แต่ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรให้เจอจุดสมดุลย์ได้ล่ะ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ลาวกำลังประสบ…

จบออกมา ก็พบว่า คนดูเริ่มหน้าเดิมๆนะครับ โดยเฉพาะทีมงานที่มีอยู่เยอะทีเดียว เริ่มมีนักท่องเที่ยวขาจรเดินแวะเวียนเข้ามาบ้างแล้ว ดูโปรแกรมแล้ว มันมีห้องเล็กๆฉายหนังอยู่ชั้น 4 อีกห้องหนึ่ง นอกเหนือไปจากหอประชุมใหญ่ ผมก็เลยขึ้นลิฟท์ไป ก็พบว่ากำลังฉายเรื่อง Days of Rain (Vietnam/Germany, 73 mins)อยู่พอดี งานสารคดีจากเวียดนาม เห็นได้ชัดว่าไปไกลกว่าลาวเยอะ ทั้งการถ่ายทำ และศิลปะในการเล่าเรื่อง เข้าไปนั่งดูเพลินๆก็จบ บรรยากาศในหนังเวียดนามมักเต็มไปด้วยฝน คนท้องถิ่นที่ทำทุกอย่างได้กลางฝน ดูไม่ทันรู้เรื่องอะไรหรอกครับ เพราะคนเริ่มทยอยกันขึ้นมาดูเยอะมาก นั่งบังกันไม่เกรงใจเลย โดยมากเป็นฝรั่งเกือบทั้งหมด

ต่อด้วยอีกเรื่อง เป็นสารคดีจากลาว เรื่อง Betting on Laos (Lao PDR, 26 mins) เป็นสารคดีแบบตรงๆโต้งๆเลย มีบรรยายดูท่าจะน่าเบื่อไม่น้อย แต่พอดูๆไปก็ อืมม์ โอเคแฮะ เล่าเรื่องการพัฒนาในปัจจุบันของลาวนี่แหละ ผ่านหัวหน้าหน่วยงานทางพันธุศาสตร์ และนักธุรกิจลาวยุคใหม่ที่เติบโตจากต่างแดน พวกเขาไปบุกป่าฝ่าดง ดูความหลากหลายทางชีวภาพ และการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านที่รุกคืบเข้ามาในลาวอย่างเงียบๆ เป็นการเล่าคู่ขนานที่ชัดเจนและแข็งแรงดี เราได้เห็นทรัพยากรธรรมชาติของลาวอันอุดมเหลือหลาย(นี่ถ้าเป็นไทย ก็คงโฆษณาไปเลยว่า อุดมสมบูรณ์ที่สุดในสามโลก!) และเห็นช่องทางการลงทุนที่งดงาม อย่างการปลูกยางพารา ผ่านนายทุนชาวจีนและญี่ปุ่นสองคนที่เข้ามาซื้อที่ดินและจ้างชาวบ้าน สร้างงาน สร้างรายได้(แต่ทำลายดิน)

หนังเล่าจบแบบสรุปให้เรียบร้อยเลยว่า ชาวลาวพึงประจักษ์ว่า เฮาจะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไรโดยไม่สูญเสียความอุดมของแผ่นดิน อืมมม์ เลือกตั้งหนนี้ มีพรรคไหนโหนนโยบายอย่างนี้บ้างมั้ยเนี่ย มีมั้ย? หา!

หนังจบไปพร้อมช่วงถามตอบ ของนักทำหนังซาวลาว ซึ่งดูยังหนุ่มยังแน่นคนหนึ่ง และอาวุโสคนหนึ่ง มาตอบคำถามได้อย่างชัดแจ้ง จัดเจน ดูมีความหวังสำหรับอุตสาหกรรมฮูบเงาของซาวลาวเป็นอย่างมาก เห็นได้ว่า หนังยาวเล่าเรื่องของพวกเขาก็เริ่มยืนด้วยตัวเองได้ ขณะเดียวกันงานสารคดีที่ใช้วิธีการที่ง่ายกว่ากัน หากต้องจับประเด็นที่แหลมคมก็กำลังก้าวหน้าไปได้ดีเช่นเดียวกัน แม้ตอนนี้จะยังอาศัยการช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศอยู่มากก็ตาม (หนังสารคดีเหล่านี้ได้ทุนจากองค์กรทุนต่างประเทศทั้งสิ้น)

ยังฉากต่ออีกหลายเรื่อง แต่ผมขอลาออกไปหาอะไรกินก่อน เพราะคืนนี้ต้องเตรียมดู “ลุงบุญมีระลึกชาติ”(อีกรอบ) การได้นั่งดูหนังเรื่องนี้ในลาว ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ก็ให้รู้สึกปลื้มราวกับเป็นเจ้าของหนังเสียเอง(ทั้งที่จริงไม่ได้อะไรเกี่ยวด้วยเลย) และอยากดูปฏิกิริยาของคนดูทั้งฝรั่งและคนลาว คนอาเซียนเองด้วย ได้ผลอย่างไร จะนำมาเล่าสู่กันฟังนะคร้าบบบบ

เกรท


Vientianale Postcard Diary – Day 3

บัณฑิต เทียนรัตน์

โปสการ์ด 3

โปสการ์ดใบที่สาม
เวียงจันทร์ 13 พ.ค. 54

เย้ เขียนไทยได้แล้ว เมื่อวานเราย้ายมาอยู่ที่เฮือนพักมีไซ ถูกกว่าที่เดิมตั้งครึ่ง เหลือ 400 บาท(แสนกีบ)รวมอาหารเช้าและซี้ตี้วิว อยู่ชั้น4 มองลงมาเห็นวัดเต็มๆ(ซิตี้ตรงไหนวะ?) ห้องโปร่งเว่อร์ เพราะหน้าเตียงเป็นหน้าต่างยักษ์สามบานติดระเบียงเลย เหมือนห้องไม่มีผนัง คนข้างนอกมองเข้ามาได้สบายเลย

เมื่อวานไม่ได้ทำไรเป็นชิ้นอัน(เพราะวันแรกไปเดินเที่ยวซะเกือบหมดแล้ว) นั่งๆนอนๆผลาญเวลามาก(พยามจะทำสมาธิเหมือนกัน แต่…) เตรียมตัวตอนเย็นจะไปร่วมงานเปิด Vientianale (เค้าอ่านว่า เวียงจันทน์นาล)หรือ เทศกาลภาพยนตร์เวียงจันทน์ครั้งที่สอง ซึ่งกล้าดีจัดตรงกับคานส์เป๊ะเลย (But who care Cannes, huh? ^^) ฝนพรำตั้งแต่บ่าย ทำให้เรานั่งทอดอารมณ์อยู่แต่ในเฮือนพัก เน็ตก็เล่นได้ทางไอทัช ซึ่งพินาศมาก พิมพ์ไรก็ไม่เป็น(กรูโลว์เทคมาก) คิดถึงใครบางคนอีก ฮู่ว…

ฝนหยุดแล้ว อากาศเริ่มแจ่มใส ขึ้นห้องไปดูซิตี้วิวอีกรอบ เห็นวัดหลังเดิม(ก็แน่ล่ะสิ)ตั้งตระหง่านสงบงาม มองไปด้านขวาเป็นหลังคาบ้านและตึกแถว ลิบๆไปเป็นแม่น้ำโขงซึ่งช่วงนี้เหือดแห้งมากๆ เลยแว่บไปอาบน้ำที่ห้องน้ำรวม(แต่อาบทีละคน) กลับมาไม่ทันไร มองไปเห็นฟ้ามืดครึ้ม เมฆมืดทะมึนลอยต่ำมาเกือบติดหลังคา ฟ้าแล่บแปลบปลาบยังกะไฟช็อต อ่าว พายุมานี่หว่า ทำไมไม่มีใครบอก!

ฝนกระหน่ำลงมา หนักกว่าเมื่อบ่ายอีก ซัดระเบียงและห้องเราเต็มๆ ไอ้เราก็จะทำไงได้ล่ะ เลยนั่งอ่านหนังสือเล่นไปซะงั้น เรื่อง “ฝนตกขึ้นฟ้า” (ซึ่งพกมาได้ตรงสถานการณ์มาก) หนังสือพี่วินทร์ เริ่มสนุกเข้าไปทุกที พอๆกะฝนตกลงดินที่นี่จนน้ำเริ่มจะท่วมแล้ว เลยปิดหนังสือ เอาไงดีวะเนี่ย? กรูไม่ได้มาที่นี่เพื่อมานั่งตะบอยอ่านหนังสือนักเขียนซีไรต์นะ เลยลุกขึ้นยืนเอาไงเอากัน

พี่สาวยื่นเสื้อกันฝนม้วนๆเก๋ๆมาให้ก่อนมา โอว์ ต้องขอบคุณย้อนหลังหลายเด้อ เรารีบคว้ามาใส่อย่างรวดเร็ว เก็บกล้อง กระเป๋าตังค์ พาสปอร์ต ฯลฯ ใส่ถุงพลาสติก แล้วก็เดินฝ่าฝนออกจากเฮือนพักเลย ฝรั่งมองกันใหญ่ว่าไอ้นี่คงมีธุระร้อน ใช่สิ ก็งานเริ่มหกโมงครึ่ง ตอนนั้นมันก็มืดตื๋อแล้ว

เดินลุยฝนและน้ำท่วมบ้างพองามไปจนถึง Lao National Cultural Hall ซึ่งเป็นตึกทรงสถาปัตย์ลาวสูงใหญ่ เห็นรถคันใหญ่จอดอยู่ข้างหน้า เราก็มั่นใจว่างานคงไม่ได้ล้มเพราะพายุแน่ เดินก้าวเข้าประตูใหญ่ไป ก็เจอผู้คนเต็มไปหมดเลย หลายคนเปียกมะล่อกมะแล่ก แต่ก็ดูยิ้มแย้มแจ่มใสกันดี ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งชาติไหนมั่งก็ไม่รู้ หน้าเอเชียก็มีบ้าง แต่ก็พูดภาษาอังกฤษกันคล่องแคล่ว เห็นหน้าตาประมาณคนลาวอยู่บ้างประปราย เข้าใจว่าคงเป็น “นักทำฮูบเงา “(คนทำหนัง) ของลาวเขานี่แหละ เห็นพี่โป๋ย ศักดิ์ชาย ดีนาน(ผกก. สะบายดี หลวงพะบาง)บอกว่าจะแวะมาร่วมงานด้วย แต่ไม่เจอแฮะ สงสัยจะติดฝน

เราเข้าไปซื้อเสื้อสีแดงสด เวียงจันทน์นาล ตัวละสามหมื่นกีบ(ประมาณ 120 บาท) เค้าไม่มีเงินทอนไทยเลยซื้อได้ตัวเดียว(อีกตัวว่าจะซื้อฝากป้าเจน) สังเกตๆดูก็มีสูจิบัตรเล่มสวย สีแดงสดเหมือนกัน มีซุ้มขายหนังสือลาว เชิงวัฒนธรรมบ้าง ท่องเที่ยวบ้าง แล้วทางซ้ายและขวาของโถงก็ขึ้นบอร์ดไว้ เป็นนิทรรศการภาพถ่ายเชิงชีวิตและวัฒนธรรมของคนลาว พอเป็นสีสัน

ว่าจะเข้าไปคุยกับคนจัดก็ดูสับสนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ตามข้อมูลแล้วเป็นฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ซึ่งทำงานแบบองค์กรทางวัฒนธรรมที่ไม่แสวงผลกำไร(ประกอบไปด้วย Ak, Ding, Fanny, Helene, Irwin, Jorg, Lee & Simone) งานนี้ก็เลยฟรีทุกกิจกรรม

สักเดี๋ยวก็เลยเดินเข้าไปในหอประชุมซึ่งกว้างขวางพอๆกับศูนย์วัฒน์บ้านเรา พื้นและพนักเก้าอี้เป็นสีแดงสด(ที่นี่เค้าคงชอบสีแดงนะ) คนก็เริ่มทยอยกันเข้ามา มีนักท่องเที่ยวที่ทราบข่าวก็พากันมาไม่น้อยนะ รวมกับแขกวีไอพีด้านหน้าๆบ้าง(เราเห็นป้านักเขียนซีไรต์ลาวปีนี้ด้วย) ก็ทำให้งานคึกคักไม่น้อย น่าจะมีหลักร้อยทีเดียว

งานเริ่มแล้วครับ เค้าหรี่ไฟลงไปเลย เห็นคนเป็นเงาๆกลุ่มใหญ่เดินมานั่งเรียงแถวกันบนเวที นึกว่าจะลุกกันขึ้นมาร่ายรำล้านช้าง แต่ก็ผิดถนัด เพราะพอไฟเปิดเสียงดนตรีจังหวะฮิปฮ็อปก็สนั่นลั่นโลก หนุ่มๆบนเวทีก็โดดผลึงขึ้นมาเต้นบีบ็อบ!!! เรียกเสียงกรี๊ดลั่นหอประชุมด้วยความผิดคาด เพลงเปลี่ยนจังหวะไปเรื่อยๆ พร้อมๆหนุ่มนักเต้นจาก “ลาวบั้งไฟ” (ถ้าจำชื่อไม่ผิด)ก็โยกย้ายท่าเต้นไปอย่างพลิกแพลง ทั้งตีลังกา ต่อตัว กระโดดลอดดาก ทำท่างอก่องอขิง เป็นที่สนุกสนานอย่างยิ่ง เสียงตบมือออกเกรียวไป

เต้นกันอีกชุดสองชุดพอหอมปากหอมคอ ตอนหลังมีสาวๆมาเต้นแจมด้วย แต่ก็ออกแนวแข็งแรง ไม่ได้มีตรงไหนที่จะดูแล้ว “ล้าวลาว” เลยสักนิด (ลืมแคนไปได้เลย) จากนั้นก็เข้าสู่พิธีการที่น่าเบื่อเล็กน้อย เพราะต้องมีการแปลสองภาษาตลอดเวลา มีการเชิญประธานในงานซึ่งเป็นประมาณรัฐมนตรีที่ดูแลด้าน “ฮูบเงา” ขึ้นมากล่าวเปิดงาน ภาษาลาวนั้นฟังออกได้สบาย แต่ก็มีสำนวนที่สำหรับเราแล้วจะรู้สึกแปลก(ขำๆบ้าง) เช่น “เพื่อสิให้งานนี้มีความหมาย เฮาก็จะขอเซิ่นท่านประธานขึ้นมา….” หรือ เมื่อพูดถึงกิจกรรมเวิร์คช็อป…”เป็นการโอ้โลมที่มีคุณค่ามากต่อหมู่พวกเฮานักทำฮูบเงา…” ฯลฯ อะไรประมาณนี้

จากนั้นผกก.หนังที่จะฉายเปิดคืนนี้เรื่อง “ขอเพียงฮัก” (Only Love) ก็ขึ้นมากล่าว เขาคือ Anousone Sirisackda ที่ร่วมกำกับเรื่อง”สะบายดี หลวงพะบาง”กับพี่โป๋ยนั่นเอง คุณพี่ใส่สูทขึ้นมาเลย ดูเป็นทางการมาก มากล่าวทั้งภาษาลาวและภาษาอังกฤษว่า หนังเรื่อง ขอเพียงรัก เป็นผลงานของบ.ลาวอาร์ทมีเดีย ที่ถือว่าเป็นหนังยุคใหม่เรื่องแรกๆที่ใช้ทีมงานคนทำหนังของลาวเองทั้งหมด ต่างๆจากเรื่องอื่นๆที่ร่วมกับไทยบ้าง จีนหรือเวียดนามบ้าง ฉะนั้นเรื่องนี้จึงมีความเป็นลาวแท้ๆสูงมาก คุณอนุสรณ์แกก็ออกตัวไว้เล็กน้อยว่า “เนื่องจากหนังเรื่องนี้มีความดีบ้าง(อ่าว)…ถ่ายทำกันในซนนะบด ก็ขอให้สนุกสนานกับการซมเนาะ”

ไฟดับลงดื้อๆ แล้วหนังก็ฉายเลย “ขอเพียงรัก” เป็นหนังที่เราได้เห็นตัวอย่างแล้วตอนก่อนมา ตอนนั้นก็นึกค่อนในใจว่า ต๊าย มันช่างดูเชยเสียนี่กระไร พระเอกเรียนสูงรักกับนางเอกบ้านนา มุ่งหน้าจะพัฒนาท้องถิ่นด้วยกัน หากบ้านนางเอกติดหนี้สินกับนายทุนซึ่งมีลูกชายอันธพาล ก็เลยต้องยอมไปขัดดอกอะไรประมาณนั้น พระเอกก็หน้าตาบ๊านบ้าน ตัวร้ายหน้าเหมือนอาจารย์เชน จตุพล ชมพูนิช ส่วนนางเอกรอดตัวไปเพราะสวยใสเหมือนน้องคำลี่จาก สะบายดี หลวงพะบาง การถ่ายทำก็ดูพื้นๆง่ายๆ มุมกล้องเฉยๆเชยๆเอื่อยๆ แล้วมันจะไหวเร้อออออ???

หากพอดูเข้าจริงๆก็ผิดคาด แม้ว่าเนื้อเรื่องก็เป็นไปตามที่ว่าไว้นั่นแหละ หากการเล่าเรื่องก็ราบรื่นไหลลื่นดี พระเอกนางเอกคิดอะไรก็พูดออกมาหมด ไม่มีอะไรต้องสงสัยกังขา อยากจะแฟลชแบ็คอะไรก็ตัดภาพฉึบฉับไปเลย ขึ้นต้นลงท้ายแบบเดาได้ไม่มีหักมุม จบแบบแฮ็ปปี้เอนดิ้ง ทุกคนมีความสุขร่วมกัน ดำเนินเรื่องคล้ายๆละครทีวีช่องเจ็ดสมัยก่อนยังไงยังงั้น แต่หลังดูจบ ผมกลับไม่อยากลุกจากที่นั่งเลย รู้สึกประทับใจเอมอิ่มและรักทีมงานฮูบเงาลาวเหลือเกินที่สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ออกมาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงพวกเขาจริงๆ

ทำไมเป็นงั้นล่ะ? เพราะเนื้อเรื่องที่เรารู้สึกว่าเชย หากมันก็เป็นความเชยที่พอเหมาะพอดี หนังเกิดขึ้นในชนบทลาวที่ชีวิตยังคงดำเนินไปช้าๆ ทุกคนเป็นเกษตรกรที่แม้จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ก็ยังคงเป็นระยะเริ่มแรก นายทุนจากเมืองใหญ่ที่เห็นแก่ตัวก็ยังต้องพัฒนาตัวเองไปอีกเยอะกว่าจะชั่วร้ายได้เต็มที่(เหมือนในประเทศไทยที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างแทบจะถอนรากถอนโคน) พระเอกจบการศึกษาจากในเมือง และมุ่งมั่นกลับไปพัฒนาท้องถิ่นด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่กับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำสกัดชีวภาพ และการสร้างฝายขนาดเล็กๆ รวมถึงรื้อฟื้นศูนย์พัฒนาอาชีพด้วยกองทุนหมู่บ้าน เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้แก่ชุมชน (พี่แกเรียนจบอะไรมาเนี่ย?)

กิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดเคียงคู่ไปกับความรักอันแสนบริสุทธิ์ระหว่างหนุ่มสาว จนเรียกได้ว่า ความรักเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเรื่องงาน (“ขอให้ฮักเฮามั่นคงตลอดไป ตราบเท่าที่เฮายังมีศูนย์พัฒนาอาชีพท้องถิ่น…” พระเอกให้สัจจะกับนางเอก เอ่อ..) คือมันเป็นความซ้ำซากที่ถ้าปรากฎในหนังไทยคงไม่แคล้วโดนด่า หากเมื่อมันเป็นหนังลาว มันไม่ใช่ความซ้ำซาก แต่มันกลมกลืนไปกับตัวละคร สถานที่ถ่ายทำ บทสนทนา การดำเนินเรื่อง การถ่ายภาพ แม้แต่ของประกอบฉาก ฯลฯ

ตัวร้ายเป็นหนุ่มเกกมะเหรกที่สร้างภาพให้เวียงจันทน์ดูเหมือนเมืองนรก(มีแต่ภาพผับและสาวใส่สายเดี่ยว)เมื่อเทียบกับชนบทที่แลดูเหมือนสวรรค์บ้านนา(ของจริง) หากหนุ่มเกเรก็ได้เรียนรู้จากความรักอันยิ่งใหญ่ของหนุ่มสาวบ้านนาที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงในสังคม และมุ่งมั่นที่จะรับมือกับมันอย่างเข็มแข็ง ไม่ได้ต้องการที่จะฟรีซบ้านนาเอาไว้ให้พอเพียงเหมือนหมู่บ้านในจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นไปได้จริง

หนุ่มบ้านนาการศึกษาสูงเอง ก็ได้เรียนรู้ว่า การลงมือพัฒนาด้วยสองมือนั้นยากเย็นเพียงใด ทุกอย่างได้มาด้วยความอดทนอดกลั้น ฝ่าฟันและลองผิดลองถูก ความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือเทพที่ไหนมาประทานให้ และไม่เกี่ยวอะไรกับการสร้างภาพ ทุกอย่างคือของจริง อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง คนในหมู่บ้านที่ดูเหมือนใสสะอาดก็มีทั้งคนดี คนเลว คนเห็นแก่ตัว คนซื่อ คนเซ่อ(หรือแม้แต่วายร้ายกะเทย!)

นางเอกนั้นเล่า น้องดวงใจเป็นตัวแทนของสาวยุคเก่าที่ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปกับความงามแบบสมัยใหม่ เหมือนน้องหลุดมาจากตำราสอนหญิงในทัศนคติของชนชั้นกลาง(ผู้ชาย) ผมไม่แน่ใจว่า คาแรกเตอร์นี้คือสาวลาวในอุดมคติที่คนลาวอยากเห็นหรือเป็นสาวลาวทั่วไปที่มีอยู่จริง แต่จะอย่างไรก็ตาม เธอคือ หญิงงามที่ผู้ชายทุกคนในโลกและแม่ผัวทุกคนอยากได้ เพราะ “สวย บริสุทธิ์ ว่าง่าย หัวอ่อน”

แต่อย่านึกว่าเธอจะไม่มีอารมณ์ความรู้สึก เพราะหลายช็อตในหนัง ดวงใจทำเอาหนุ่มๆหัวปั่น เนื่องจากความเข้มแข็งที่เธอต้องเลือกเพื่อความรักของตัวหรือเพื่อความกตัญญูต่อบุพการี…น้องนางเอกในเรื่อง สวยใสไม่แพ้น้องคำลี่จากสะบายดีหลวงพะบาง และแสดงออกทางสีหน้าได้ดีมากๆ ยิ่งเวลาเธอเศร้านั้น หัวใจเราแทบจะหลุดลอยตามไปทีเดียว

โลเกชั่นในเรื่องนั้น ผมไม่แน่ใจว่าถ่ายกันที่ไหน แต่มันสวยจนน่าตื่นตะลึง เทือกเขาสูงชันเรียงราย ใกล้หมู่บ้านที่ปูไปด้วยผืนนาสีเขียวสด มีหมอกขาวลอยเรี่ยห่มคลุมอยู่ตลอดทั้งวัน ลำธารใสราวกระจกไหลเลื้อยผ่าน ยินแต่เสียงน้ำไหลรินและเสียงลมพัดเอื่อยๆ หนุ่มสาวหน้าใสเดินจับมือสัญญาใจกันใต้ร่มไม้ใหญ่ “ฮักเฮาจะอยู่คู่กันตลอดไป ตราบที่เฮายังมีศูนย์พัฒนาอาชีพชาวบ้าน (อ่าว)…”

แต่ก็มีหลายอย่างที่เล่นเอาผมขำกึกๆในลำคอ มันคงเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ความซื่อ” ละกระมัง (ตามประสาคนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่า) เช่น ไอ้ตัวร้ายเดินถือปิ่นโต ทำท่าจะป้อนนมไวตามิลค์กล่องกะนางเอก, ฉากพระเอกนางเอกดูด “น้ำมะขาม” สูตรคุณแม่, ธนาคารลาวในเวียงจันทน์, การถ่ายทำในรถหรือฉากฝนตกพายุโดยใช้บลูสกรีน ฯลฯ อันนี้ต้องดูเองฮะ

อ่อ ที่อยากพูดถึงอีกอย่างคือการแสดง เป็นการแสดงที่เรียบเรื่อยเอามากๆๆ พระเอกนางเอกตัวร้ายเหมือนพูดกระซิบกระซาบกันในลำคอ เล่น “เล็ก” มากๆๆ แม้แต่ในฉากทุ่มทะเลาะกันตอนท้ายเรื่อง ก็เล่นได้แบบแพ้ละครโทรทัศน์ไทยราบคาบ คนลาวก็นิยมละครไทยออกจะตาย น่าจะชินกับการวี้ดว้ายตบกันกระจายมากกว่านี้(หรือจะถือเอาเป็นแบบอย่างที่เลวก็ไม่รู้สิ) แล้วอย่างมากที่สุดที่พระเอกนางเอกจะทำคือ จับมือ

อ่อ ฉากที่ตัวร้ายจะปล้ำนางเอก ก็ให้เห็นเป็นเงาๆผ่านกระจกห้องนอนเท่านั้น คือทั้งหมดดูแล้ว เหมือนย้อนไปดูหนังไทยยุคเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มันเป็นคลิเช่ที่ให้ความรู้สึกดีจริงๆ

จริงๆยังมีแง่มุมให้จับได้อีกเยอะเหมือนกัน แต่นี่ก็ยาวมากแล้ว เอาเป็นว่า “ขอเพียงฮัก” ทำให้ค่ำคืนฉ่ำฝนในเวียงจันทน์วันนี้ของผมเป็นคืนที่น่าประทับใจ และเอมอิ่มเหลือเกิน หนังเลิกไปอย่างง่ายๆพร้อมคนดูที่พึมพัมกันทั้งโรง ผมได้แต่เสียงทำนองว่า “That’s magical, magical….”

ครับ มันอาจไม่ใช่หนังที่เลอเลิศ มีฉากประดักประเดิดในตอนท้ายหลายช็อต หากมันก็มุ่งมั่นให้ความบันเทิงเต็มที่ มีความพยายามในการผูกเรื่องให้ซับซ้อนและพยายามคลี่คลายอย่างสมเหตุสมผล ใช้การตัดต่อที่เรียบง่ายก็จริง แต่ก็ดูออกว่ามีลูกเล่น สกอร์ที่โหมประโคมมากไปสักนิด แต่ก็ไปกันได้ดีกับการเร้าอารมณ์แบบเมโลดราม่าแท้ๆ

อย่าว่าผมเว่อร์ แต่นี่คือ “ผลิตภัณฑ์” ของคนทำฮูบเงาลาวที่พวกเขาสมควรภูมิใจ และมันจะฉายที่ไหนก็ได้แบบไม่ต้องอายใคร เพราะในความเป็นตัวตนที่แท้ของงานศิลปะ หาใช่ความงามที่ไร้ที่ติ หากควรเป็นสิ่งที่จุไปด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และความดีเลว…ณ จุดนี้ “ขอเพียงฮัก” ทำหน้าที่ของงานศิลปะได้ดียิ่งแล้ว

…ผมเดินทอดน่อง กลับไปยังเฮือนพัก ฝนหยุดไปนานแล้ว แต่ฟ้ายังฉ่ำอยู่ แม้จะเป็นเมืองหลวงหากเวียงจันทน์เงียบเอาเสียจริงๆ มีร้านก๋วยเตี๋ยวเปิดดึกๆอยู่ไม่กี่ร้าน พอให้ผมเข้าไปฝากกระเพาะได้ มีมินิมาร์ทอยู่ร้านหนึ่งใกล้ๆ มองไปไม่เห็นแม้แต่เซเว่นอีเลฟเว่น…

ทุกอย่างในลาวเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ หรือว่าโลกใบนี้มันหมุนเร็วเกินไป…


THE BIZARRE WORLD OF SHUJI TERAYAMA :โลกพิกลของ ชูจิ เทรายามา

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ DUB SOCIAL ด้วยการสนับสนุนของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ภูมิใจเสนอ . . .

THE BIZARRE WORLD OF Shuji Terayama


 

THE BIZARRE WORLD OF SHUJI TERAYAMA
โลกพิกลของ ชูจิ เทรายามา

วันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 26-27 เมษายน 2551
BANGKOK CODE ถนนสาทรใต้ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า สุรศักดิ์

เชิญชมโปรแกรมภาพยนตร์ชุดของผู้กำกับที่ทำหนังได้แปลกเพี้ยนพิลึกพิลั่นมากที่สุดในเกาะญี่ปุ่น เจ้าของผลงานสุดอื้อฉาวหาชมได้ยากอย่าง Emperor Tomoto Ketchup และ Throw Away Your Books, Rally in the Streets เต็มอิ่มไปกับจินตนาการสุดพิสดารพันลึกของเขาจากผลงานหนังและวิดีโอยาวและสั้นตลอดทั้งสองวัน พร้อมเสวนากับ ‘กัลปพฤกษ์’ และ ‘filmsick’ สองนักเขียนรุ่นใหม่จากกลุ่ม Filmvirus และที่สำคัญคือ โปรแกรมนี้ฟรีตลอดรายการ!

แนะนำผู้กำกับ ชูจิ เทรายามา
ชูจิ เทรายามา เป็นศิลปินหัวก้าวหน้าชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานโดดเด่นในช่วงคริสตศตวรรษ 1960’s – 1980’s แต่น่าเสียดายที่เขากลับไม่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเท่ากับผู้กำกับแหวกกระแสร่วมชาติอย่าง Shohei Imamura, Nagisa Oshima, Yasuzo Masumura หรือแม้แต่ Seijun Suzuki เขาเกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1935 ณ จังหวัดเอโอโมริ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นและสูญเสียบิดาไปจากการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่ออายุได้เพียง 9 ขวบ ชูจิ เทรายามา ต้องอาศัยอยู่กับญาติที่เมืองมิซาวา ในขณะที่มารดาของเขาต้องไปรับจ้างทำงานให้กับฐานทัพสหรัฐ ณ ต่างเมือง ที่เมืองมิซาวานี้เองที่ชูจิ เทรายามา ต้องอาศัยพื้นที่ว่างหลังจอภาพยนตร์เป็นที่หลับนอน เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสใกล้ชิดกับสื่อชนิดนี้มาตั้งแต่เด็กโดยปริยาย

เมื่ออายุได้ 19 ปี ชูจิ เทรายามา ก็สามารถสอบเข้าเรียนด้านภาษาและวรรณคดีญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยวาเซดะอันเลื่องชื่อได้ แต่น่าเสียดายที่เขาเกิดล้มป่วยด้วยโรคไตจึงไม่สามารถเรียนต่อให้จบ เขาจึงหันมาประกอบอาชีพเป็นนักเขียนมีผลงานบทกวี นิยาย บทความ บทวิจารณ์ตีพิมพ์ในสื่อต่าง ๆ มากมาย ปี ค.ศ. 1967 เขาได้ก่อตั้งคณะละครชื่อ Tenjou Sajiki ซึ่งเป็นคำแปลภาษาญี่ปุ่นของชื่อหนัง Les enfants du paradis (1945) กำกับโดยผู้กำกับฝรั่งเศส Marcel Carne ที่ชูจิ เทรายามาชื่นชอบ เขาและคณะได้เปิดการแสดงละครแนว avant-garde ชิ้นสำคัญหลาย ๆ เรื่องในช่วงปลายยุค 1960’s อาทิ ‘Bluebeard’, ‘Yes’ และ ‘The Crime of Fatso Oyama’


ในช่วงนี้เองที่ ชูจิ เทรายามา เริ่มมีผลงานหนังสั้นเรื่องแรกคือ Catology (ปัจจุบันหนังเรื่องนี้ได้หายสาบสูญไปแล้ว) ก่อนที่จะมีโอกาสกำกับหนังขนาดยาวสองเรื่องในปี 1971 นั่นคือ Emperor Tomato Ketchup และ Throw Away Your Books, Rally in the Streets ซึ่งทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักกันในวงการหนังทดลองพันธุ์ระห่ำแห่งยุค 1970’s ในทันที หลังจากนั้น ชูจิ เทรายามา ก็มีผลงานทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ทดลองทั้งยาวและสั้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ กระทั่งโรคไตของเขากำเริบขึ้นมาอีกครั้งและถึงแก่ชีวิตไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1983

ผลงานภาพยนตร์ของชูจิ เทรายามา
ผลงานภาพยนตร์ของชูจิ เทรายามานั้นโดดเด่นไปด้วยงานการกำกับศิลป์ที่มีสีสันฉูดฉาดจัดจ้าน ทั้งในส่วนของการออกแบบฉาก อุปกรณ์ประกอบ รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนักแสดง หนังของชูจิ เทรายามา มักจะเน้นการสะท้อนถึงความเสื่อมของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ถูกทำลายด้วยการไหล่บ่าของวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตัวละครในหนังของชูจิ เทรายามา จึงมีทั้งที่สวมกิโมโน และชุดสูทสากล และมักจะพอกหน้าพอกตากันด้วยแป้งขาวตามขนบของนาฏศิลป์ญี่ปุ่นและละครใบ้แบบตะวันตก นอกจากนี้หนังของชูจิ เทรายามา ยังมักจะมีการเล่นกับมิติหนังในหลาย ๆ รูปแบบ ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมในการชมภาพยนตร์ของเขาได้อย่างแปลกใหม่น่าตื่นเต้น

โปรแกรมฉายภาพยนตร์


วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2551
10.00 – 11.15 น. จดหมายวิดีทัศน์ (Video Letters) ชูจิ เทรายามา – ชุนทาโร ทานิกาวา
12.00 – 13.30 น. ภาพยนตร์เรื่อง Emperor Tomato Ketchup
13.30 – 14.30 น. ร่วมเสวนากับ ‘กัลปพฤกษ์’ นักวิจารณ์รางวัลกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ในหัวข้อ “ความอนาจารในงานศิลปะ กรณีศึกษาจาก Emperor Tomato Ketchup ของชูจิ เทรายามา”
14.30 – 16.30 น. ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 1
17.30 – 20.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Throw Away Your Books, Rally in the Streets

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551
10.00 – 12.00 น. ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 2
13.00 – 15.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Pastoral: To Die in the Country
15.00 – 16.00 น. ร่วมเสวนากับ ‘filmsick’ นักเขียนจากกลุ่มฟิล์มไวรัสในหัวข้อ “ลีลาประพันธกรของ ชูจิ เทรายามา”
16.00 – 17.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Grass Labyrinth
18.00 – 20.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Farewell to the Ark

หมายเหตุ
1) ขอขอบคุณคุณ Oleg Evnin (Helge 79) เป็นอย่างสูงสำหรับภาพยนตร์อนุเคราะห์ในโปรแกรมนี้
2) เรื่องย่อและโปรแกรมหนังสั้นของชูจิ เทรายามา สามารถติดตามได้ที่ http://dkfilmhouse.blogspot.com/
3) อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตและงานของ ชูจิ เทรายามา ได้ในบทแนะนำภาพยนตร์ฉบับร่ายยาว “โลกพิลั่น ฝันพิลึก ของ ชูจิ เทรายามา” โดย ‘กัลปพฤกษ์‘ ในหนังสือ “The 8 Masters แปดผู้กำกับภาพยนตร์ระดับครู” ของ Filmvirus สำนักพิมพ์ openbooks


เรื่องย่อภาพยนตร์

EMPEROR TOMATO KETCHUP (1971)
หนังใต้ดินสุดวินาศสันตะโรที่สมมติสถานการณ์ให้เด็ก ๆ ทั้งหลายยึดอำนาจอธิปไตยผู้ใหญ่ แล้วตั้งกฎหมายใหม่ที่ทุก ๆ อย่างจะต้องเป็นไปตามอำเภอใจของเหล่าเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประหัตประหารบุคลากรทางการศึกษาที่เคยมอมเมาเยาวชนกันด้วยหลักสูตรปัญญาอ่อนที่มีแต่จะบั่นทอนความคิดอันบริสุทธิ์ของพวกเขา การใช้อาวุธยุโธปกรณ์มาบังคับให้พวกผู้ใหญ่ต้องเชื่อฟังในทุก ๆ คำสั่ง ไปจนถึงการทดลองทำกิจกรรมต้องห้ามต่าง ๆ ที่เคยถูกห้ามปรามโดยพวกผู้ใหญ่อยู่เสมอ ผู้กำกับชูจิ เทรายามา ถ่ายทอดจินตนการสุดพิลึกพิลั่นเหล่านี้ด้วยลีลาในการกำกับศิลป์อันแปลกประหลาดพิสดารและจัดจ้านในเวลาเดียวกัน ชวนให้สะเทือนขวัญไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างน่าสะพรึง!


THROW AWAY YOUR BOOKS, RALLY IN THE STREETS (1971)
หนังวัยรุ่นปฏิวัติเรื่องเยี่ยมแห่งยุคสมัยของการแสวงหา ที่จะนำพาทุกท่านไปสัมผัสกับเรื่องราวชีวิตสุดเส็งเคร็งของวาตาชิหนุ่มญี่ปุ่นที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกในครอบครัวที่ไม่สมประกอบ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อจอมถ้ำมอง คุณย่ามือกาว และน้องสาวที่ชอบมีอะไรกับกระต่าย ท่ามกลางเสียงตวาดกราดเกรี้ยวโวยวายด้วยทำนองเพลงร็อคแอนด์โรลอันหนักหน่วงของเหล่าวัยรุ่นในยุค 1970’s ผู้ไม่เคยพอใจต่อสังคมอันจอมปลอม ผู้กำกับชูจิ เทรายามา เล่าเรื่องราวใน Throw Away Your Books, Rally in the Streets ด้วยการละเลงสีสันต่าง ๆ อย่างจัดจ้าน แถมยังมีการเล่นมิติเชิงหนังให้ได้งงงันกันในหลาย ๆ ฉากด้วย ผลงานเด่นหาดูยากเรื่องสำคัญแห่งวงการหนังยุค 70’s ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!


PASTORAL: TO DIE IN THE COUNTRY (1974)
หนังแฟนตาซีสุดพิสดารที่จะมาเล่าขานตำนานในชนบทของเด็กชายวัยแตกเนื้อหนุ่มที่คิดจะลักพาตัวสาวใหญ่ข้างบ้านหนีไปจากสามีของเธอ หนังขัดจังหวะเรื่องราวของหนุ่มละอ่อนรายนี้ด้วยการมาเยือนของคณะละครสัตว์ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยชาวคณะผู้มีลักษณะพิลึกพิลั่น ไม่ว่าจะเป็น คนร่างแคระ นางพญางูเขียว กะเทยทรามในชุดนักเรียนคอซอง หญิงสาวในชุดพองลม รวมถึงลูกคณะสติไม่เต็มเต็งรายอื่น ๆ ก่อนที่หนังจะหักมุมครั้งสำคัญที่คงจะต้องดูกันเองจึงจะรู้ว่าน่าตกตะลึงถึงขนาดไหน ชูจิ เทรายามาถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ใน Pastoral: To Die in the Country ด้วยลีลาการกำกับศิลป์ที่เอิบอิ่มไปด้วยสีสันสุดพิลาศพิไลแถมยังจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างแปลกหูแปลกตาชนิดที่จะหาดูไม่ได้จากหนังเรื่องไหน ๆ หนังเรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้า ร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 1975


GRASS LABYRINTH (1983)
เรื่องราวการตามหาเนื้อร้องเพลงพื้นบ้านบทหนึ่งของหนุ่มอากิราที่มารดาของเขาเคยร้องให้ฟัง เขาต้องกลับมายังบ้านเกิดเพื่อสอบถามครูใหญ่ พระประจำอาวาส และบรรดาโสเภณี เพื่อสืบสาวเรื่องราวที่ค้างไว้ในเนื้อเพลงเพลงนั้น สลับกับการย้อนอดีตไปเล่าเรื่องราวการผจญภัยต่อกรกับนางผีร้ายของเขาในวัยละอ่อน ซึ่งจะมาสร้างบรรยากาศทั้งอ่อนหวานและสยองขวัญไปได้พร้อม ๆ กัน หนังขนาดย่อมของ ชูจิ เทรายามา ที่เคยเป็นหนึ่งในสามภาพยนตร์ชุด Private Collections ร่วมกับผลงานของ Just Jaeckin และ Walerian Borowczyk หนังเรื่องนี้มียอดผู้กำกับญี่ปุ่น Juzo Itami ผู้ล่วงลับร่วมแสดง


FAREWELL TO THE ARK (1984)
สร้างจากนิยายเรื่องดัง One Hundred Years of Solitude ของ Gabriel Garcia Marquez ซึ่ง ชูจิ เทรายามา ก็นำมาดัดแปลงเสียจนไม่เหลือเค้า หนังเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านในจินตนาการแห่งหนึ่ง ซึ่งอุดมไปด้วยเรื่องราวประหลาดพิสดาร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ลักขโมยนาฬิกาชาวบ้านไปฝังทิ้งเพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้ควบคุมเวลาในหมู่บ้านแต่เพียงผู้เดียว คู่สามีภรรยาที่ต้องหากระดาษมาเขียนชื่อสิ่งของต่าง ๆ แล้วนำไปติดไว้จนทั่วบ้าน หญิงสาวที่ไม่สามารถมีอะไรกับชายหนุ่มได้เพราะเธอไม่มีกุญแจไขตะปิ้งเหล็ก และหลุมลึกลับกลางหมู่บ้านที่ชวนให้สงสัยว่ามีอะไรอยู่ในนั้น Farewell to the Ark เล่าเรื่องราวเหนือจริงต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยท่าทีอ่อนโยนละมุนละไม ชวนให้เคลิบเคลิ้มไปกับการเฝ้าฝันถึงคืนวันในอดีตที่ยังจะตราตรึงอยู่ในใจเราไปได้ชั่วกาลนาน ผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ออกฉายหลัง ชูจิ เทรายามาเสียชีวิตลงแล้ว


ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 1
The Cage (1964, 11 นาที) เมื่อเวลากลายเป็นเครื่องจองจำอิสรภาพมนุษย์
Butterfly Dress Pledge (1974, 12 นาที) จินตนาการวิปลาสของคนที่อยากจะมีปีกงามอย่างผีเสื้อ!
Rolla (1974, 9 นาที) สามสาวร่านกับการระรานคนดู!
Young Person’s Guide to the Cinema (1974, 3 นาที) บทแนะนำการชมภาพยนตร์ภาคพิสดาร
Labyrinth Tale (1975, 15 นาที) ยินดีต้อนรับสู่ . . . บานประตูวิเศษ
Hoso-tan (1975, 34 นาที) ลำนำแห่งการห้ำหั่นทำลาย
Der Prozess (1975, 34 นาที) เรื่องราวไม่ธรรมดาระหว่างคนกับตะปู


ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 2
Eraser (1977, 20 นาที) เมื่อยางลบลบถูได้ทุกสรรพสิ่ง
Les chants de Maldoror (1977, 30 นาที) หนังสั้นจากงานประพันธ์ “บทขับขานของคนเกลียดมนุษย์”
An Attempt to Describe the Measure of a Man (1977, 19 นาที) งุ่นง่านสะท้านสรีระ
Shadow Film – A Woman With Two Heads (1977, 15 นาที) เงาดื้อ!
Reading Machine (1977, 22 นาที) มาอ่านหนังสือกันเถอะ!
Father (1977, 3 นาที) ชายคนนี้ . . . ผู้เป็นสามีของแม่